เมื่อหัวว่าง จึงสร้างสรรค์

1 min read5 years ago

เล่าหนังสือ

เมื่อหัวว่าง-จึงสร้างสรรค์-cover-image

"เมื่อหัวว่าง จึงสร้างสรรค์" แต่งโดยคุณต้อง กวีวุฒิ เจ้าของเพจเฟสบุ๊คและพอดแคสต์ แปดบรรทัดครึ่ง โดยก่อนจะเล่าถึงหนังสือเล่มนี้ ขอออกตัวก่อนว่า ผมเป็นคนชอบฟังพอดแคสต์มากๆ ซึ่งรายการหนึ่งที่ผมมักจะฟังอยู่เป็นประจำคือ "แปดบรรทัดครึ่ง" นี่แหละครับ ด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับธุรกิจและแนวคิดเชิงนวัตกรรม ที่เล่าได้กระชับและจบตอนภายในสิบนาที ทำให้ผมเปิดฟังเวลาเดินทางอยู่บ่อยๆ และด้วยความชอบในการเล่าเรื่อง จึงทำให้ผมซื้อหนังสือเล่มนี้มาครับ

มีประโยคหนึ่งในหนังสือที่สะดุดตาผมมากเลยคือ นวัตกรรมไม่เคยเริ่มต้นจาก "เทคโนโลยี" แต่เริ่มจากการไปนั่งอยู่ "กลางใจ" ของลูกค้า มันสะกิดใจโปรแกรมเมอร์แบบผมเข้าอย่างจังเลยครับ เพราะทุกๆครั้งที่ผมได้ยินคำว่า "นวัตกรรม" คนเรามักพูดถึงเทคโนโลยี แต่เมื่อผมอ่านหนังสือเล่มนี้ผมกลับเจอแต่คำว่า "ความเห็นอกเห็นใจ (empathy)" ซึ่งมันเปลี่ยนความคิดของผมไปเลยนะ เพราะว่าการที่เราจะคิดเพื่อให้เกิดนวัตกรรมได้นั้น เราต้องมองเห็นปัญหาให้ได้ และการจะเข้าใจปัญหาคือเราต้องเข้าใจผู้ที่ประสบปัญหา คือเราต้องเข้าใจพวกเขาและรู้สึกเห็นอกเห็นใจเขาจริงๆ เพราะเมื่อเราทำความเข้าใจคนเหล่านั้นจนแทบจะรู้สึกแบบเดียวกันแล้วละก็ เราก็จะสามารถคิดเพื่อสร้างสิ่งที่ตอบโจทย์และตรงใจคนที่ประสบปัญหาได้นั่นเอง

ความเห็นอกเห็นใจที่ผู้แต่งกล่าวถึงในหนังสือแล้วผมรู้สึกเห็นภาพได้ชัดมากๆ คือทางเดินสำหรับผู้พิการในประเทศญี่ปุ่น ที่สามารถอำนวยความสะดวกโดยการพาผู้พิการไปยังลิฟต์โดยสารได้จริงๆ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่มีสัมภาระมากมายแต่กลับเดินทางได้อย่างไม่รู้สึกลำบากเลย ต่างกับประเทศเราที่ทางเดินผู้พิการก็เต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางมากมาย แสดงให้เห็นถึงการขาดความเห็นอกเห็นใจอย่างเห็นได้ชัด

ในหนังสือก็ยังพูดถึงเทคนิคต่างๆในการขาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ "โซเชียล ปรู๊ฟ (Social Proof)" เช่น การติดป้ายสินค้าขายดีให้กับไวน์ เพื่อให้คนเข้าใจว่าสินค้านั้นขายดี ส่งผลให้เราสามารถตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ถ้ารู้ว่ามีอีกหลายคนที่สันสินใจเหมือนกันกับเรา หรือการทำให้สินค้าเป็นของ "หายาก (Scarcity)" เช่น การจำกัดจำนวนซุปกระป๋องที่สามารถซื้อได้เหลือเพียงแค่คนละห้ากระป๋องเท่านั้น ถึงแม้ว่าเราอาจจะกินไม่ถึงห้ากระป๋อง แต่ความหายากของสินค้าก็สามารถเพิ่มความต้องการของลูกค้าให้ยอมซื้อสินค้านั้นก็ได้

นอกจากนั้น เรายังได้อ่านเรื่องราวขององค์กรใหญ่ๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น การปรับตัวในอุตสาหกรรมหนังของ Netflix, การปฏิวัติวงการแฟชั่นของ Zara รวมไปถึงแนวคิดในการเข้าใจลูกค้าของแซม วอลตัน เจ้าของวอลมาร์ท ซึ่งมันทำให้เราได้เปิดมุมมองว่า องค์กรที่สามารถพลิกวงการเขามีแนวคิดอย่างไร

สำหรับผมแล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ปรับมุมมองของผมได้ดีเลยทีเดียว ด้วยอาชีพของผมคือโปรแกรมเมอร์ เวลาจะแก้ปัญหาให้ใครสักคน ผมมักจะนึกถึงเทคโนโลยีมาก่อนอยู่เสมอ แต่หลังจากได้รับมุมมองใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ ทำให้เรารู้สึกว่าการเข้าใจถึงปัญหาและความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น มันสำคัญขนาดไหนและมีผลต่อการสร้างนวัตกรรมเพียงใด

. . .