บันทึกการเปลี่ยนเว็บไซต์ไปใช้ Tailwind CSS

2 min read4 years ago

เล่าโค้ด

บันทึกการเปลี่ยนเว็บไซต์ไปใช้-tailwind-css-cover-image

สวัสดีครับ 👋

นี่เป็นบทความฝั่งโปรแกรมมิ่งบทความแรก ที่ย้ายจาก medium มาเขียนในเว็บนี้ บทความถัดๆ ไปจากนี้ก็คงย้ายมาเขียนที่นี่เช่นกัน ถ้ามีฟีดแบคอะไรบอกกันได้เลยนะครับ 😀


บทความนี้เกิดขึ้นมาได้เพราะเมื่อไม่นานมานี้ได้แก้เว็บ เปลี่ยนไปใช้ Tailwind CSS แล้วก็รู้สึกว่า เออ มันมีอะไรน่าสนใจเยอะเลยแฮะ ก็เลยขอเขียนบล็อกเก็บไว้สักหน่อย

ทำความรู้จัก Tailwind CSS กันก่อน

เล่าสั้นๆ เกี่ยวกับ Tailwind คือ CSS framework ที่เป็น utility-first ว่าง่ายๆ คือแทนที่จะมีคลาสระดับคอมโพเนนต์ให้ใช้อย่าง class="btn btn-primary" เหมือนใน Bootstrap แต่กลับให้คลาสเล็กๆ แล้วค่อยเอามาประกอบรวมกัน อย่างเช่น class="bg-blue-500 text-white px-4 py-2 rounded" คือเล็กประมาณหนึ่งคลาสหนึ่งหน้าที่เลย

เรามาลองดูคลาสด้านบนกันดีกว่า ว่าแต่ละคลาสมันทำอะไรบ้าง?

  • bg-blue-500 คือแบคกราวน์สีน้ำเงินปกติ ไล่เฉดสีตั้งแต่ 100 คือสีอ่อน จนถึง 900 เป็นสีเข้ม
  • text-white ก็ color: white; ตรงๆ แหละ
  • px-4 คือ padding ในแกนนอน 1rem (ไม่ได้มีทุกเลขนะ แต่มีสเกลให้ แบบ 0, 1, 2, 3 ... 48, 56, 64 ช่วงท้ายๆ เลขจะห่างขึ้นเรื่อยๆ)
  • py-2 คือ padding ในแกนตั้ง 0.5rem (ตรง py-xx โดย xx มีค่าเท่าไหร่ จับหาร 4 ก็จะได้ตัวเลขในหน่วย rem)
  • rounded คือ border-radius นั่นเอง

สุดท้ายก็จะได้ผลลัพธ์แบบนี้ครับ

button primary

ปล.1 รายละเอียดการติดตั้งหรือการใช้งานก็ไปดูกันได้ที่เว็บหลักเลย https://tailwindcss.com

ปล.2 ใครอยากทดลองเล่น มีคนทำเพลยกราวไว้ให้แล้วที่นี่ https://tailwind.run (เอ้ากราบ 🙏🏻)

ปล.3 ใคร map CSS property มาหาคลาสของ Tailwind ไม่ถูก แบบไม่รู้ว่า text-align: center; คือคลาสอะไรใน Tailwind ก็มีคนทำตัวช่วยไว้ให้แล้วที่นี่ https://tailwind.spacet.me (เอ้ากราบอีกที 🙏🏻)


ต่อไปเป็นสิ่งที่ผมเจอระหว่างการใช้งานแจ้ 😎

มาพร้อม Base Style

อันแรกที่ชอบคือมันเป็น CSS framework ที่มาพร้อม style พื้นฐานที่มีให้ตั้งแต่ color palette, spacing, shadow ฯลฯ เตรียมไว้ให้เสร็จสรรพ ข้อดีคือหน้าตาของเว็บเราก็จะไปในแนวทางเดียวกัน มีเฉดสี มีสเกลให้ ทำให้เราควบคุมความหลากหลายของตัวเลขและค่าต่างๆ ไม่ให้ฟุ้งและกระจัดกระจายเกินไป

คนทำ framework คือคนเขียนหนังสือ Refactoring UI ซึ่งผมรู้สึกว่าตัว framework มีกลิ่นอายของหนังสือมากพอสมควรเลย (ปล. อันนี้ไม่ได้ค่าโฆษณานะ 😅)

ถ้าอยากรู้ว่าเขาเตรียมอะไรมาให้เราบ้าง สามารถสร้างคอนฟิกไฟล์ขึ้นมาดูได้เลยด้วยคำสั่งนี้

npx tailwindcss init --full

ถ้าใครขี้เกียจสร้าง ผมหยิบตัวอย่างมาให้ดูนิดหน่อยตามข้างล่างนี้เลยครับ

// สี เอาไปใช้กับทั้ง text, background, border // เช่น text-red-100, bg-green-900 colors: { gray: { 100: '#f7fafc', 200: '#edf2f7', 300: '#e2e8f0', 400: '#cbd5e0', 500: '#a0aec0', 600: '#718096', 700: '#4a5568', 800: '#2d3748', 900: '#1a202c', }, } // spacing เอาไปใช้กับทั้ง margin, padding // เช่น m-8 p-6 spacing: { px: '1px', '0': '0', '1': '0.25rem', '2': '0.5rem', '3': '0.75rem', '4': '1rem', '5': '1.25rem', '6': '1.5rem', '8': '2rem', '10': '2.5rem', '12': '3rem', '16': '4rem', '20': '5rem', '24': '6rem', '32': '8rem', '40': '10rem', '48': '12rem', '56': '14rem', '64': '16rem', },

ความเป็น Utility First

ผมค่อนข้างชอบการใส่ style ทีละนิดๆ จากศูนย์นะ เพราะค่อนข้างเหนื่อยกับการหยิบคอมโพเนนต์สำเร็จรูปมาแล้วค่อยไป override style ทับมันทีหลัง ผมก็เลยชอบพวก Tailwind CSS, styled-components มากกว่า Ant Design, Bootstrap น่ะ (แต่ละแบบก็มีข้อดีของตัวเองเนอะ แค่ชอบมากกว่าเท่านั้นเอง)

ถึงแม้ว่าผลของมันจะทำให้ HTML หรือ JSX ของเรารกหูรกตาไปบ้าง แต่แลกกับการที่แท็กและสไตล์มันอยู่ที่เดียวกัน เลยทำให้เรามองปุ๊บอ่านออกปั๊บว่าหน้าตามันจะเป็นยังไง อันนี้คือตัวอย่างโค้ดที่ผมเคยเขียนมานะ จะเห็นว่าความเข้าใจง่ายมันต่างกันพอสมควรเลย

  • เขียนแบบปกติ อันนี้ต้องไปเปิดไฟล์ .css ดู ว่าคลาส card มันโดนตกแต่งสไตล์ไว้ยังไงบ้าง
<div class="card">...</div>
  • อันนี้เป็น styled-components ต้องเลื่อนไปบนๆ ของไฟล์เพื่อดูสไตล์
<Card>...</Card>
  • อันนี้ของ Tailwind CSS คือรู้เลยว่าหน้าตามันจะเป็นยังไง
<div class="flex flex-col p-4 bg-white shadow">...</div>

แต่ง Markdown ด้วย tailwindcss-typography

Tailwind CSS จะมาพร้อม CSS reset โดยจะทำการลบ default style ของเบราเซอร์ออก แล้วให้เราเข้าไปใส่ style กันเอาเอง แต่เนื้อหาในหน้านี้ที่เรากำลังอ่านกันอยู่ เขียนด้วย markdown จึงต้องใช้ tailwindcss-typography เพื่อตกแต่ง HTML ในส่วนที่เราไม่สามารถไปเพิ่ม style ตรงๆ ได้

Support media query แค่ min-width

เราสามารถใช้ media query ได้โดยการเติม prefix ไว้ด้านหน้าของคลาส เช่น **md:**text-center

<div class="grid grid-cols-1 sm:grid-cols-2">...</div>

พอเป็น media query แบบ min-width ดังนั้นจอเล็กก็จะเป็น 1 คอลัมน์ และจอ sm ขึ้นไปเป็น 2 คอลัมน์ ซึ่งก่อนหน้านี้ผมใช้ max-width มาตลอดเลย พอมาลองใช้ min-width ผมคิดว่ามันช่วยให้ผมมองแบบ mobile first ได้ดีกว่า (ความเห็นส่วนตัวเลยนะอันนี้ 😅)


งานที่ต้องทำเพิ่ม

นอกจากข้อดีที่อวยมาทั้งหมดแล้วก็มีงานอีกนิดหน่อยที่ต้องทำด้วยนั่นคือ

  • Tailwind CSS ไม่ได้ใส่ vendor prefix มาให้ ต้องไปใส่เอง
  • CSS มีขนาดใหญ่ เพราะเป็นคลาสที่สร้างเก็บเอาไว้แล้ว แต่สามารถ Purge CSS ที่ไม่ได้ใช้ออกได้

ส่งท้ายสักหน่อย

หลังจากใช้งานกับเว็บนี้และโปรเจคทำเล่นอีกสองโปรเจค ส่วนตัวแล้วที่ชอบมากๆ ก็คงเป็นก็แนวคิดของการประกอบคลาสย่อยๆ จนได้เป็นคอมโพเนนต์ออกมา ทำให้เราไม่ต้องเหนื่อยกับการมา override CSS แบบเดิมๆ อีกต่อไป ผมว่ามันทำให้ชีวิตสุขสบายขึ้นเยอะเลย 🤩

เรื่องต่อมาคือการลิมิตจำนวนคลาสที่ใช้ได้ เช่น อยากใส่ box-shadow ก็ใช้คลาส shadow-xs, shadow-sm จนถึง shadow-2xl คือนับแล้วมีอยู่ประมาณ 7 ขนาดให้เลือกใช้ หรือเฉดสีก็มีให้ 9 เฉด ตั้งแต่ 100 ถึง 900 ลองนึกภาพว่าถ้าไม่มีการลิมิตเลย มันจะมีสักกี่ขนาด กี่เฉดสี แล้วโปรเจคใหญ่ๆ มันจะมั่วขนาดไหน? 🤣

สำหรับใครที่ลองมาแล้วเข้ามาแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ ไว้เจอกันใหม่บทความหน้า สวัสดีครับผมมมม

. . .